ทำไม เสาเข็ม จึงสำคัญต่อการสร้างบ้าน หากไม่ตอกจะมีผลเสียกับบ้านไหม ?
เสาเข็ม ทำหน้าที่หลักในการค้ำยันและรับน้ำหนักตัวบ้าน จึงเป็นวัสดุงานก่อสร้างที่สำคัญในการสร้างบ้าน หลายกรณีที่บ้านเกิดการทรุดตัวและผนังร้าว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน การลงเสาเข็มโดยไม่ได้สำรวจดินในพื้นที่ก่อน เป็นผลทำให้บ้านทรุดตัวและทำให้เสาเข็มเกิดการแตกหัก ดังนั้น เสาเข็มจึงถือเป็นรากฐานของบ้านที่เราต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก วันนี้ปัญญาฤทธิ์โฮมจะพาทุกคนไปเจาะลึกความสำคัญของเสาเข็มต่อการสร้างบ้านกัน
เสาเข็มคืออะไร ?
เสาเข็มคือวัสดุก่อสร้างมีลักษณะเป็นแท่งฝังลงพื้นดิน ก่อนเราจะทำการสร้างบ้านจำเป็นที่จะต้องตอกเสาเข็มลงก่อน เพื่อเป็นตัวช่วยรับน้ำหนักของบ้าน การรับน้ำหนักของเสาเข็มมี 2 แบบ ได้แก่
1.การรับน้ำหนักจากตัวเสาเข็มเอง โดยอาศัยแรงพยุงตัวที่เกิดจากแรงเสียดทาน ระหว่างพื้นผิวของเสาเข็มที่จมลึกลงไปกับดินที่อยู่โดยรอบ
2.การรับน้ำหนักจากชั้นดิน เป็นการรับน้ำหนักโดยอาศัยชั้นดินแข็ง ( ดินแข็ง ดินทราย ชั้นหิน ) จะเป็นการส่งถ่ายน้ำหนักจากสิ่งก่อสร้างลงไปยังชั้นดินแข็งโดยตรง อาศัยแรงเสียดทานของผิวดินและเสาเข็มในการรับน้ำหนัก ร่วมกับการใช้ปลายเสาเข็มในการรับแรงกดดันของดิน
ทำไมต้องมีเสาเข็ม? และ เสาเข็มที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีกี่ประเภท?
หากไม่มีเสาเข็มคอยทำหน้าที่รับน้ำหนักจากตัวบ้านลงสู่พื้นดิน จะส่งผลให้พื้นดินทรุดลงเรื่อย ๆ เพราะต้องรับน้ำหนักจากตัวบ้านโดยตรง เมื่อพื้นดินทรุด จะก่อให้เกิดปัญหาบ้านทรุด ผนังร้าวตามมา
เสาเข็มที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มี 2 ประเภท ได้แก่ เสาเข็มตอก และ เสาเข็มเจาะ
1. เสาเข็มตอก
มีหลายชนิดที่นิยมใช้ เช่น เสาเข็มไม้ เสาเข็มเหล็ก และเสาเข็มคอนกรีต โดยเสาเข็มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เสาเข็มคอนกรีต เพราะแข็งแรงทนทานกว่าเสาเข็มไม้ ไม่ต้องกังวลเรื่อง ปลวก มอด แมลง และมีราคาถูกกว่าเสาเข็มเหล็ก
เสาเข็มคอนกรีตยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นเสาเข็มที่หล่อในโรงงาน ทำหน้าที่หลักในการแบกรับน้ำหนักของอาคารที่ถ่ายลงมาในแนวดิ่ง ในบางกรณีเสาก็อาจจะทำหน้าที่ในการรับแรงดัดด้วย เช่น เสาที่มีหูช้างรองรับ หรือเสาที่มีแรงดันด้านข้าง จึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบเหล็กเสริมตามยาวให้มีความยาวที่เพียงพอ เพื่อรับโมเมนต์ดัด จากการเคลื่อนย้ายและการตอกเสาเข็ม
เสาคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เป็นเสาเข็มชนิดที่อาศัยเทคนิคการดึงลวดรับแรงดึง จากนั้นตามด้วยการเทคอนกรีตลงในแบบหล่อเสา เมื่อคอนกรีตแข็งตัวจึงทำการตัดลวดรับแรงดึง ส่งผลทำให้เสาเข็มมีเนื้อที่แน่น ผิวเรียบ แข็งแกร่งสม่ำเสมอตลอดทั้งต้น ลดปัญหาการแตกร้าวของเสาเข็มได้ดี ด้วยลักษณะหน้าตัดของเสาเข็มที่เล็กกว่า ข้อดีคือ ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากการตอกเสาเข็ม ต่ออาคาร บ้านเรือน หรือพื้นที่บริเวณใกล้เคียงโดยรอบลดน้อยลง เพราะการตอกเสาเข็มตอก ทำได้โดยการใช้ปั้นจั่นตอกลงบนหัวเข็ม เสาเข็มที่ถูกตอกลงไปจะทำให้ชั้นดินเคลื่อนตัวและมีเสียงดัง เสาเข็มตอกจึงเหมาะกับงานก่อสร้างที่มีลักษณะพื้นที่กว้างขวาง ปราศจากอาคารข้างเคียง
2. เสาเข็มเจาะ
การทำเสาเข็มเจาะนั้นมีราคาสูง และต้องทำในสถานที่ที่ก่อสร้าง โดยใช้เครื่องมือเจาะลงไปในดินให้ได้ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง และความลึกของเสาเข็มตามที่ต้องการ จากนั้นจึงใส่เหล็กเสริมแล้วตามด้วยการเทคอนกรีตลงไปในหลุม เพื่อหล่อเป็นเสาเข็มขึ้นมา นิยมใช้ในงานก่อสร้างที่มีพื้นที่จำกัดหรืออยู่ในชุมชนที่มีอาคารบ้านเรือนมาก เพราะไม่ส่งผลกระทบต่ออาคารข้างเคียง แตกต่างจากการใช้เสาเข็มตอกที่ต้องใช้ปั้นจั่นในการกระแทกเพื่อตอกเสาเข็มลงดิน ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนกระทบอาคารข้างเคียง
เสาเข็มเจาะแบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิด ได้แก่
เสาเข็มเจาะแห้ง นิยมใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป ไม่ต้องใช้เครื่องมือซับซ้อนมาก มีหน้าตัดเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 60 ซม. รับน้ำหนักได้ประมาณ 25-60 ตันต่อต้นขึ้นอยู่กับขนาด
เสาเข็มเจาะเปียก เหมาะกับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือซับซ้อน เช่น คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า มีหน้าตัดเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 60-150 ซม. รับน้ำหนักได้ประมาณ 150-900 ตันต่อต้นขึ้นอยู่กับขนาด
เห็นได้ว่าการเลือกเสาเข็ม จำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลาย ๆ อย่าง ทั้งประเภทของเสาเข็ม รูปแบบของอาคาร และสภาพแวดล้อมข้างเคียง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่คนที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้าน หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม “ปัญญาฤทธิ์โฮม บริษัทรับสร้างบ้านเชียงใหม่” เรายินดีให้บริการรับสร้างบ้านอย่างครบวงจร โดยทีมงานมืออาชีพที่มากประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี ที่พร้อมบริการสร้างบ้านให้แก่คุณ ปัญญาฤทธิ์โฮมบริษัทรับสร้างบ้านเชียงใหม่ มีเขตพื้นที่ให้บริการดังนี้ รับสร้างบ้านเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา